วางเงินไว้ที่ไหน ให้เหมาะกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เราอยากได้?
สวัสดีครับเพื่อนๆ กลับมาพบกับ Mr. Phillip อีกครั้งนะ สำหรับเพื่อนๆ ที่เป็นมือใหม่ ที่คิดว่าตัวเองกำลังจะเริ่มลงทุน ผมขอแนะนำว่าก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนนั้นเราต้องรู้ก่อนว่า จะลงทุนในอะไรและความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์อยู่ที่ระดับใด และตัวเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนครับ ก่อนอื่น เรามาดูกันว่าแต่ละคนรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ตามลิงค์นี้เลยครับ
http://bit.ly/3dPtsGy
หลังจากที่แต่ละคนทราบความเสี่ยงตัวเองแล้ว เราจะเห็นว่าในแบบประเมินความเสี่ยงบอกว่า เรารับความเสี่ยงได้ระดับใด และสินทรัพย์รูปแบบใดที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้บ้าง ทีนี้เรามาทำความรู้จักการลงทุนแต่ละสินทรัพย์ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรและผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ผมขอแบ่งสินทรัพย์การลงทุน แต่ละแบบตามความเสี่ยงดังนี้
1. ระดับความเสี่ยงต่ำ
- กองทุนรวมตลาดเงิน (Money market) เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ของกองทุนรวมตลาดเงินประเภทนี้นั้นอยู่ที่ 1.1 % ต่อปี (อ้างอิงจากผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังของ K-CASH)
- พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) เป็นตราสารหนี้รัฐบาล ออกโดยหน่วยงานของรัฐโดยผู้ซื้อมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้เราสามารถพูดได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีอยู่ที่ เฉลี่ย 0.46% ต่อปี เมื่อเราถือจนครบอายุการถือครองของพันธบัตร
2. ระดับความเสี่ยงปานกลาง
- กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) และอายุยาว (มากกว่า 1 ปี) โดยผู้ออกตราสารหนี้นั้นเป็นบริษัทเอกชน ความแตกต่างของตราสารหนี้เอกชนแต่ละตัวนอกจากอายุก็คือ ความน่าเชื่อถือของบริษัท ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าหากเราลงทุนผ่านกองทุนรวมผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการให้เราเอง โดยผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 - 1.8% ต่อปี (อ้างอิงผลตอบแทนจากกองทุน K-CBOND)
- หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนออกมาเพื่อที่จะกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยตรง ซึ่งผลตอบแทนของหุ้นกู้จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย โดยหุ้นกู้แต่ละตัวนั้นผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือและอายุของหุ้นกู้ โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นกู้ที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับหุ้นกู้เพื่อการลงทุน ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 1.2 - 1.4% ต่อปี (อ้างอิง http://www.thaibma.or.th/EN/Market/YieldCurve/Corporate.aspx)
สิ่งที่เราต้องสนใจเพิ่มเติมในการลงทุนตราสารหนี้ คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนจะเสียภาษี 15% เช่นลงทุนผ่านตราสารหนี้ ได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี จากเงินลงทุน 100,000 บาท จะได้ผลตอบแทน 2,000 บาท และจะโดนหักภาษีไป 15% ทำให้เหลือผลตอบแทน 1,700 บาทนั่นเอง
3. ระดับความเสี่ยงสูง
- ตราสารทุนหรือหุ้น เป็นตราสารที่ผู้ซื้อมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการแต่เป็นเจ้าของกิจการเพียงแค่บางส่วนตามจำนวนหุ้นที่เราถือ การลงทุนในหุ้นเราจะต้องพบความเสี่ยงได้แก่ ความเสี่ยงของธุรกิจ ความเสี่ยงทางตลาดความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงในอำนาจซื้อ
ซึ่งผลตอบแทนจากตราสารทุนถ้าหากเราอ้างอิงจากดัชนี SET index นั้น หากย้อนหลังกลับไป 5 ปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นมาราวๆ 16 % เฉลี่ยแล้วโตต่อปีประมาณ 3.3% ต่อปี หรือ ถ้าเรามองเพียงเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้ SET index มีความผันผวนสูง แต่ถ้าหากเรามองเพียงปี 2017 SET index นั้นปรับตัวขึ้นถึง 13% หรือถ้าเรามองที่การลงทุนต่างประเทคในหถ้นกลุ่ทเทคโนโลยีปี 2020 ดัชนี Nasdaq นั้นปรับตัวขึ้นถึง 42 % ซึ่งถ้าหากเป็นนักลงทุนมือใหม่ ไม่ถนัดในการเลือกหุ้นเองสามารถลงทุนผ่านทางกองทุนรวมได้ครับ
- ตราสารอนุพันธ์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หน้าที่หลักของตราสารชนิดนี้จริงๆ แล้ว ถูกสร้างมาเพื่อบริหารความเสี่ยงหรือเก็งกำไร ดังนั้นการประมาณการผลตอบแทนจะไม่มีตัวเลขที่บอกได้ อีกทั้งความซับซ้อนของตราสารชนิดนี้ ทำให้ตราสารชนิดนี้ถูกจัดเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงสูงสุดครับ
เมื่อเราทำความรู้จักกับสินทรัพย์ประเภทต่างๆ และความเสี่ยงระดับต่างๆ กันไปแล้วนะครับ ต่อไปเราจะต้องเริ่มจัดการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ครั้งหน้า ผม จะมาเล่าเรื่อง Asset Allocation (การกระจายการลงทุน) ว่าทำไมถึงสำคัญและมีวิธีการอย่างไร แล้วมาติดตามกันต่อนะครับ
Mr. Phillip ขอให้โชคดีในการลงทุนครับ