PhillipCapital Your Partner in Investment

poems poems

ศูนย์การเรียนรู้
เงินปันผล ควรยื่นภาษีหรือไม่


เงินปันผล ควรยื่นภาษีหรือไม่
 

พบกันอีกครั้งกับ Mr. Phillip นะครับ ช่วงนี้ใกล้ฤดูกาลต้องวางแผนลดหย่อนภาษี เรื่องราวที่คุยกันก็จะเป็นเรื่องภาษีเยอะหน่อย อย่าพึ่งเบื่อกันนะครับ วันก่อน ผมนึกถึงเพื่อน ๆ พบว่าส่วนใหญ่มีการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมทำให้ได้รับเงินปันผลมากบ้าง น้อยบ้าง จนเลยเกิดเป็นคำถามที่ ผมได้รับบ่อย ๆ คือ “เราจำเป็นต้องเอาเงินปันผลมายื่นภาษีเงินได้หรือไม่?” และ “เมื่อไหร่ควรยื่น เมื่อไหร่ไม่ควรยื่น”

เอาล่ะครับ มาดูกันที่คำถามแรกก่อน ว่าเงินปันผลยังต้องเอามายื่นภาษีเงินได้หรือไม่?
 
คำตอบสั้นและง่าย คือ ยื่นหรือไม่ก็ได้ครับ

เนื่องจากเงินปันผลที่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 10% และภาษีที่ถูกหักไปนี้เป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) ผู้มีเงินได้สามารถเลือกที่จะนำมาคำนวณในการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งปัจจุบันเจ้าภาษีสุดท้ายนี้มี่อยู่ 5 ประเภท คือ ดอกเบี้ย เงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร ผลต่างหรือส่วนลดราคาไถ่ถอนกับหน้าตราสารหนี้ กำไรจากการขายตราสารหนี้ และรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรครับ

อ้าว!!! แบบนี้ก็ง่ายเลย ไม่ยื่นเลยละกัน

ผมต้องบอกว่า อย่าพึ่งด่วนสรุปแบบนั้น เพราะอาจทำให้เราเสียสิทธิ์โดยไม่รู้ตัวครับ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจอะไร ลองมาดูวิธีคิดในการเก็บภาษีเงินปันผลก้อนนี้กันก่อนครับ

ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจก่อนว่าภาษีที่สรรพากรหักจากเงินปันผลนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ก้อน คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ เจ้าภาษีสุดท้าย 10% ที่เราพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยทั่วไป ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะอยู่ที่ 20% ดังนั้น หากบริษัทที่เราลงทุนมีเงิน 100 บาท เราจะถูกหักภาษี 20 บาท เหลือเงิน 80 บาท เจ้าเงิน 80 บาทตรงนี้จะถูกหักภาษีสุดท้ายอีก 10% (8 บาท) ทำให้เหลือเงิน 72 บาท

แปลว่าจริง ๆ แล้วเราโดนภาษีเงินปันผลก้อนนี้ถึง 28%!!!

แต่เดี๋ยวก่อนครับ อย่าพึ่งรีบไปยื่นนะครับ ก่อนอื่นหยิบเอกสารหักภาษีของเงินปันผลมาดูก่อนว่า เงินปันผลที่ได้แต่ละก้อนเสียภาษีเท่าไร เพราะเงินปันผลของบริษัทบางก้อนนั้น “ไม่เสียภาษี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทได้รับสิทธิ BOI นั่นแปลว่า เงินก้อนนี้เสียภาษีสุดท้ายเพียงก้อนเดียว นอกจากนั้น บางก้อนอาจเสียภาษีเพียง 10% ก็มีครับ แถมบางบริษัทเงินปันผลสิ้นปีมีหลายก้อนในบริษัทเดียว ทั้งที่เสียภาษีและไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก

ดังนั้นก่อนเอาเงินปันผลมายื่นภาษีอยากให้เพื่อน ๆ พิจารณาเงินปันผลทุกก้อนทุกบริษัทตามนี้นะครับ
  1. เงินปันผลนั้น เสียภาษีนิติบุคคลหรือไม่ และเสียร้อยละเท่าไร
  2. ภาษีที่เสียไปหลังหักภาษีสุดท้ายเป็นร้อยละเท่าไร
  3. ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเราหากรวมรายได้จากปันผลอยู่ที่เท่าไร  
ซึ่งในการยื่นภาษีเงินปันผลนี้ จะต้องยื่นภาษีเงินปันผลทุกก้อนทุกบริษัทที่ได้นะครับ ดังนั้น ถ้าจะยื่นต้องคำนวณให้ดี ถ้าวันนี้ฐานภาษีของปันผลหลังหักภาษีสุดท้ายที่จ่ายไปสูงกว่าฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเรา ผมแนะนำให้เราขอเครดิตภาษีปันผลเงินก้อนนี้คืน แต่หากภาษีเงินปันผลที่จ่ายไปทั้งก้อนต่ำกว่าฐานภาษีเรา แนะนำให้เก็บเอกสารใส่ลิ้นชัก ไม่ต้องเอาไปยื่นรวมภาษี ไม่อย่างนั้นจะต้องเสียภาษีเพิ่มแน่นอนครับ
  • หากเพื่อนๆ ต้องการคนช่วยแนะนำการวางแผนลดหย่อนภาษี วางแผนการลงทุน ใช้บริการกับหลักทรัพย์ฟิลลิป ได้นะครับ แจ้งเราให้ติดต่อกลับที่ : https://forms.gle/x9d91ZGSP8LExjWAA
  • สนใจอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม : https://www.poems.in.th/learning_detail.aspx?id=355
#วางแผนการเงิน #วางแผนลดหย่อนภาษี #ลดหย่อนภาษี