รู้จักหุ้นบริษัทการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น รับการเปิดประเทศ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีสัญญาณแง่บวกเมื่อปี 2021 ซึ่งดัชนี Nikkei 225 ไต่ระดับชนิดที่ไม่เคยทำได้มาก่อนใน 30 กว่าปี แม้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมโครอนทำให้การเปิดประเทศเลื่อนต่อไปอีก และเกิดภาวะเงินเฟ้อจนตลาดหุ้นตกลง 3.72%
แต่เมื่อมีการประกาศเปิดรับการท่องเที่ยว ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริโภคก็กลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง และเงินเฟ้อก็ช่วยตลาดในประเทศในระยะสั้น ๆ ได้อีกด้วย ภาวะเงินเฟ้อส่งผลแบบไหนกับญี่ปุ่น? ในปี 2022 นี้ หลายประเทศเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ฝั่งสหรัฐฯ ที่ 8.5% ยุโรป 8.9% โดยญี่ปุ่นเองก็อยู่ที่ 2.6% แม้จะดูน้อย แต่ก็ถือว่าสูงจนเป็นสถิติของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่า ทศวรรษที่สูญหาย ในปี 1991 - 2001 เศรษฐกิจเติบโตช้าและมีภาวะเงินฝืด ราคาสินค้าและบริการลดลง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากคนจะเก็บเงินมากกว่าใช้จ่าย เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ยังมีเป้าหมายในการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เพื่อเพิ่มการใช้จ่าย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อแบบธนาคารกลางหลายประเทศ แต่จะใช้วิธีควบคุมดูแลให้อัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำ เพื่อให้เศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เงินเฟ้อมีผลกับตลาดหุ้นหรือไม่? บริษัทญี่ปุ่นสามารถทำกำไรได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการจับจ่ายซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเงินเฟ้อสามารถช่วยตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเวลาสั้น ๆ โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคิชิดะก็มีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทในญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมากรออยู่ ซึ่งในระยะยาวจะสร้างโอกาสการลงทุนได้อีกมาก บริษัทท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่น่าสนใจหลังเปิดประเทศ
1. เอเจนซี่การท่องเที่ยว H.I.S. (TYO: 9603) H.I.S. เป็นบริษัทเอเจนซี่ท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด เป็นบริษัทมหาชนที่มีสำนักงานใน 69 ประเทศ ทั่วโลก บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 1980 แรกเริ่มเน้นจัดแพ็คเกจท่องเที่ยวต่างประเทศในราคาพิเศษ ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการเที่ยวในญี่ปุ่นมีสัดส่วนเท่าไหร่ของบริษัท นอกจากขายแพ็คเกจท่องเที่ยว H.I.S. ยังรับจัดงานประชุม, งาน Event, งานแต่ง, ทริปล่องเรือ และยังเป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่งในโตเกียว, โอซาก้า, ฟุคุโอกะ และนางาซากิ ก่อนเกิดโควิด HIS เคยมีรายได้จากการดำเนินงานสูงถึง 18 พันล้านเยน บริษัทมีมูลค่าสุทธิ 344 พันล้านเยน
Hanatour Japan (TYO: 9603)
Hanatour เป็นบริษัทการท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เน้นนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ และจีนเป็นหลัก โดยประเทศแถบ SEA, ยุโรป และ สหรัฐฯ บ้าง แต่มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย Hanatour มีผลการดำเนินงานที่ไม่หวือหวา ทำกำไรได้บ้าง ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19
2. ธุรกิจโรงแรม และ REIT ธุรกิจบริการ Japan Hotel REIT (TYO: 8985) Japan Hotel เป็น REIT ที่ใหญ่และมีความเป็น Blue-Chip ที่สุดในหมู่บริษัท REIT ด้านเครือที่พักและโรงแรมของญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี 2005 และควบรวมกับ Nippon Hotel Fund ในปี 2012 สินทรัพย์ทั้งหมดดำเนินงานโดยเครือโรงแรมระดับสากล เช่น Holiday Inn, Sheraton, Marriott, Ibis และ Hilton มีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ หุ้นของ Japan Hotel REIT มีอัตราการจ่ายปันผลที่ 5.5%.
Invincible Investment (TYO: 8963)
Invincible Investment เกิดจากการควบรวมกันของ TGR Investment และ LCP Investment ในพอร์ตฯ มีโรงแรมกว่า 86 แห่ง รวม 15,600 ห้อง, อสังหาฯ เพื่อการอยู่อาศัย 47 แห่ง และห้างสรรพสินค้าอีก 1 แห่ง โรงแรมจะมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง-ใหญ่ ไปจนถึงรีสอร์ต ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่แถบโตเกียว และบริหารโดยแบรนด์ MyStays มีบริษัทแม่คือ Softbank Group หลังจากซื้อกิจการไปก็มีการเพิ่มหุ้น ทำให้ราคาตอนนี้อยู่ที่ 3,381 เยน มีจ่ายปันผลที่ 8.0%
3. กิจการขนส่งมวลชน
Japan Airport Terminal (TYO: 9706) Japan Airport Terminal เป็นบริษัทที่บริหารจัดการสนามบินฮาเนดะ โดยบริหารร่วมกับบริษัท Tokyo International Air Terminal สนามบินฮาเนดะจะใช้สำหรับเที่ยวบินในประเทศเป็นหลัก บริษัท Japan Airport Terminal มีส่วนแบ่งการตลาดจากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีถึง 31% จากสนามบินทั่วทั้งญี่ปุ่น และประกอบกิจการอาหารบนเครื่องบินทั้งที่ฮาเนดะและนาริตะ
ANA (TYO: 9202)
All Nippon Airways หรือ ANA เป็นบริษัทสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กินส่วนแบ่งการตลาดถึง 39% ดำเนินกิจการด้วยเครื่องบิน 214 ลำ 104 เส้นทางบิน ปัจจุบันมูลค่าบริษัทเริ่มเพิ่มสูงหลังจากวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา
4. สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
Oriental Land (TYO: 4661) Oriental Land เป็นผู้ให้บริการสวนสนุกชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งสวนสนุกระดับแม่เหล็กคือ Tokyo Disney Resort ซึ่งประกอบไปด้วย Tokyo Disneyland และ Tokyo DisneySea บริษัทยังมีธุรกิจโรงแรมรอบ ๆ สวนสนุกแห่งนี้อีก ในเร็ว ๆ นี้บริษัทก็จะมีการขยายสวนสนุกเพิ่มทั้งสองส่วน
Fuji Kyuko (TYO: 9010)
Fuji Kyuko หรือ ฟูจิคิว เป็นบริษัทที่บริหารจัดการ กระเช้า Kachi Kachi Ropeway, สวนสนุก Fuji-Q Highland, โรงแรม, สนามกอล์ฟ, รีสอร์ตสกี, จุดตั้งแคมป์ ฯลฯ รวมถึงให้บริการภาคขนส่งอย่าง Fujikyuko railway และ รถบัสอีกหลายเส้นทาง
5. ค้าปลีก
Pan Pacific (TYO: 7532) Pan Pacific เป็นบริษัทค้าปลีกพร้อมโปรโมชันลดราคาสินค้า ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว แบรนด์ค้าปลีกของบริษัทนี้คือ Don Quijote (ดอน กิโฆเต้) ในญีปุ่น และเป็นที่รู้จักในต่างประเทศรวมถึงไทย ในชื่อ Don Don Donki (ดอง ดอง ดองกิ) โดยสินค้าส่วนมากจะเป็นสินค้าเกินคลังจากบริษัทค้าปลีกอื่น ๆ แต่ก็มีสินค้าในชีวิตประจำวันคุณภาพดีอื่น ๆ ที่ทำให้สร้างฐานลูกค้าประจำ ๆ ให้ร้าน มูลค่าของกิจการ Pan Pacific เพิ่มขึ้นมากหลังจากซื้อกิจการคู่แข่ง และในอนาคตบริษัทจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Yamada Holding (TYO: 9831)
Yamada Holding เป็นบริษัทค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น ที่กินส่วนแบ่งการตลาดไปถึง 30% จากร้านกว่า 12,640 สาขา และบ้านตัวอย่างสำหรับแสดงสินค้า สินค้าที่บริษัทขายมีทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปและเฟอร์นิเจอร์ โดยหน้าร้านจะใช้ชื่อ Yamada และ Best Denki ซึ่งหุ้นของ Yamada Holding ยังทำผลงานดีแม้อยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น
ญี่ปุ่นจะเปิดประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 11 ต.ค. นี้ สำหรับนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสลงทุนในประเทศแห่ง Pop Culture อย่างญี่ปุ่น สามารถลงทุนตรงผ่านบริการ Phillip Global Markets ได้ โทร. 02 635-3055 หรือ Line: @phillipglobal ( คลิก https://lin.ee/q0bIxVg) Credit:
Josef Licsauer นักวิเคราะห์การลงทุน https://www.hl.co.uk/news/articles/japan-stock-market-and-funds-review-is-it-finally-time-to-invest Credit: Michael Fritzell นักวิเคราะห์หุ้น https://www.asiancenturystocks.com/p/japantourism |